โรคไขมันพอกตับ ... เกิดขึ้นได้ แม้ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
Fatty Liver Disease
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยไขมันพอกตับในผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
ไขมันพอกตับในผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
ไขมันพอกตับ คือ ภาวะที่มีการสะสมของไขมันอยู่ในตับ ซึ่งอยู่ในรูปของไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) โดยอาจมีเพียงแค่ไขมันคั่งอยู่ในเซลล์ตับ หรือมีอาการอักเสบของตับเรื้อรังจนกลายเป็นตับแข็ง นำไปสู่ภาวะตับวายและมะเร็งตับ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้ใช้เวลานับสิบปี ภาวะนี้มักสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่อ้วนลงพุง เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง
อาการ
โดยทั่วไปจะไม่มีอาการ มักจะพบความผิดปกติเมื่อมารับการตรวจสุขภาพประจำปีจากการตรวจเลือด หรืออุลตร้าซาวน์
การวินิจฉัย
ตรวจพบค่าตับอักเสบ หรืออุลตร้าซาวน์พบว่ามีไขมันพอกตับ ซึ่งจะต้องหาสาเหตุอื่นแยกออกไปก่อน ได้แก่
- การดื่มแอลกอฮอล์
- ไวรัสตับอักเสบ
- โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง
- โรคที่มีเหล็กหรือทองแดงสะสมในร่างกายมากเกินไป
- การรับประทานยาบางอย่าง เช่น สเตียรอยด์ ยากลุ่มฮอร์โมนทดแทน
ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์
- อาหารเสริม ยาสมุนไพรบางชนิด ซึ่งเมื่อหยุดยาเหล่านี้แล้วการอักเสบของตับอาจหายไปเองก็เป็นได้แต่อาจจะยังพบไขมันพอกตับอยู่
- ผู้ที่ขาดอาหารหรืออดอาหาร
ไขมันพอกตับมี 4 ระยะ โดยแบ่งระยะจากการตรวจชิ้นเนื้อตับ
ระยะที่ 1 มีไขมันพอกตับเท่านั้น ไม่มีการอักเสบร่วมด้วย
ระยะที่ 2 เริ่มมีการอักเสบเล็กน้อย
ระยะที่ 3 มีการอักเสบมากขึ้น จนมีการบวมโตของเซลล์ตับ
ระยะที่ 4 มีพังผืดตับเกิดขึ้น (ตับแข็ง)
โดยพบว่าหากคนไข้ที่มีภาวะไขมันพอกตับในระยะ 3 ขึ้นไป ประมาณ 30% จะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งตับสูงถึง 2 – 13% ภายในเวลา 5 – 10 ปี
และพบว่าระยะของไขมันพอกตับ ไม่ได้สัมพันธ์กับระดับค่าการอักเสบของตับจากการตรวจเลือด
การรักษา
- หยุดสาเหตุตามที่กล่าวข้างต้น เช่น หยุดดื่มสุรา อาหารเสริม เช่น น้ำมันปลา น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส สมุนไพรต่างๆ
- ลดน้ำหนักประมาณ 7 – 10% ใน 6 เดือน การลดน้ำหนักลงเร็วกว่านี้อาจก่อให้เกิดตับอักเสบอย่างรุนแรงได้
- ออกกำลังกาย จากงานวิจัยพบว่าเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในการรักษาภาวะไขมันพอกตับ โดยจะต้องออกกำลังกายอย่างน้อย 3 – 5 วันต่อสัปดาห์ วันละอย่างน้อย 30 – 45 นาที
- คุมอาหาร ให้มีพลังงานน้อยกว่า 2,000 - 2,200 กิโลแคลอรี่ต่อวัน ลดอาหารกลุ่มที่มีแป้ง น้ำตาล เช่น แป้ง ขนม น้ำหวาน น้ำอัดลม รวมทั้งผลไม้รสหวาน น้ำผลไม้
- ลดการกินไขมันทั้งจากพืชและจากสัตว์ในปริมาณมากเกินไป เช่น ไขมันทรานส์ (Trans fatty acid) ของทอด crackers cookies กะทิ เนย นม เนื้อ หมู ไก่
- ตรวจหาปัจจัยเสี่ยงอื่นที่สำคัญ คือ เบาหวาน ไขมันสูง ว่ามีหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องรักษา เพื่อลดไขมันสะสมและลดการอักเสบของตับในรายที่มีการอักเสบร่วมด้วย เพื่อหยุดยั้งการดำเนินโรคต่อไป
- ยาที่มีผลงานวิจัยว่าได้ประโยชน์ในภาวะไขมันพอกตับ คือ วิตามินอีขนาดสูง (800 IU ต่อวัน) จะเลือกใช้ในกรณีที่ลดน้ำหนักและออกกำลังกายแล้วแต่ยังไม่ได้ผล เนื่องจากยามีผลข้างเคียงมากอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองและมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยก่อนเริ่มยาจำเป็นที่จะต้องเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยด้วย นอกจากนี้ไม่แนะนำให้ใช้ยาในผู้ป่วยเบาหวานหรือคนไข้ที่มีภาวะตับแข็งแล้ว เนื่องจากมีความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ
ข้อมูลอัพเดท ณ วันที่ : 16 ตุลาคม 2566
|